12/12/2555

การเลือกใช้ยางรถยนต์

คนใช้รถยนต์ทุกคนต้องเจอกับปัญหาเรื่องการจะเปลี่ยนยางทั้งนั้น ดังนั้นผมจะขอเขียนบทความที่เกี่ยวกับการเลือกซื้อยางรถยนต์ เพื่อประโยชน์ในการเลือกซื้อครับ
ยางรถยนต์นั้นมีความสำคัญมาก เพราะเป็นเพียงส่วนเดียวที่อยู่ติดกับพื้นถนน ดังนั้นไม่ว่าเราจะเบรค จะเลี้ยว จะเร่ง ยางรถยนต์มีผลกระทบในทุกๆการเคลื่อนที่ของรถยนต์เราก็ว่าได้
สำหรับบทความนี้ผมจะเน้นไปที่การเลือกซื้อยางรถยนต์ใหม่(อาจจะแถมการเลือกยางเปอร์เซ็นต์เล็กน้อย)ปัจจัยในการเลือกใช้ยางรถยนต์หลักๆเลยก็ง่ายๆเลยครับ การใช้งานรถยนต์ของเรานั่นเอง เราควรเลือกใช้งานตามความเหมาะสมเพื่อความปลอดภัย และประหยัดเงินในกระเป๋าท่านเองด้วย วิธีที่จะรู้ว่าท่านใช้รถยนต์แบบไหนก็ให้หากระดาษมา 1 แผ่น แล้วเขียนการใช้งานเป็นข้อๆดังนี้
1.งบประมาณในส่วนนี้นั้นอาจจะยืดยุ่นได้บ้าง เพื่อความปลอดภัย
2.ลักษณะการใช้งาน เช่น ใช้บรรทุกของหนักแค่ไหน ความเร็วที่ใช้มากสุดที่เท่าไหร่ พื้นผิวถนนที่วิ่งประจำเปียก หรือแห้ง(เอาความบ่อยเป็นเกณฑ์) เป็นต้น
 ให้เขียนออกมาเป็นข้อๆ อาจจะแถมพวก ต้องการความเงียบ การรีดน้ำ ประหยัดเชื้อเพลิง อะไรต่างๆนาๆ อันนี้ผมว่าแล้วแต่ความชอบส่วนบุคคล(หรือจะชอบยี่ห้อไหนพิเศษก็ไม่ว่ากัน)

ซึ่งความต้องการต่างๆนี้นั้น รู้หรือไม่ว่าที่แก้มยางของรถยนต์ บอกไว้หมดแล้ว  แต่ตัวหนังสือและตัวเลขมีหลายชุด ตัวไหนที่เราควรรู้หรือตัวไหนดูไว้ผ่านๆ เรามาดูกัน

ชุดนี้จะเห็นเป็น 255/70R16 111H M+S ผมขออธิบายดังนี้
1. 255 ความหมายคือ ความกว้างของยาง(ไม่ใช่ความกว้างของหน้ายางที่เข้าใจกัน)ขณะที่เติมลมได้มาตราฐาน ดังรูป

ซึ่งจะวัดกันเป็นหน่วย มิลลิเมตร
2. 70 เลขตัวนี้จะ่บ่งบอกถึง ความสูงของแก้มยาง โดยคิดเป็นเปอร์เซ็น เช่น ตัวอย่างนี้นั้น ความกว้างคือ 255 มิลลิเมตร ความสูงแก้มยางคือ 70% ของ 255 มิลลิเมตร นั่นคือ 178.5 มิลลิเมตร โดยความสูงนี้วัดจากขอบยางด้านในถึงขอบด้านนอกส่วนหน้ายาง โดยการวัดต้องยังไม่ได้ใส่ล้อแม็กนะครับ
3. R อักษรตัวนี้บ่งบอกว่าเป็นยาง โครงสร้างแบบเรเดียล
4.16 บอกขนาดที่ใส่กับล้อแม็ก ในตัวอย่างคือ 16 นิ้ว โดยวัดจากขอบยางด้านในของยาง ทั้ง 2 ฝั่ง ไม่ใช่วัดจากขอบล้อแม็กขอบนอก ต้องวัดจากส่วนที่ผิวของล้อแม็กสัมผัสกับยาง ทั้ง2 ฝั่ง
5.111 คือดรรชนีบรรทุกน้ำหนัก  ค่าที่เขียนที่แก้มยางคือค่า L1 แล้วก็เอาไปเทียบตามตารางนะครับ



6.H ตัวอักษรนี้เป็นสัญลักษณ์ ที่ไว้บอกความเร็วที่ยางจะรับได้สูงสุด เทียบโดยค่าตาตาราง


7.M+S ตัวอักษรชุดนี้ยางชุดไหนไม่มีก็ไม่เป็นไร พอดียางที่ผมใช้อธิบายมันมีก็เลยแถมไปด้วยเลย ความหมายของมันคือ MUD + SNOW นั่นเอง คือสามารถใช้งานในพื้นผิวที่เป็นโคลนและหิมะได้

พอเรารู้ว่ายางรถยนต์ที่เราจะเลือกควรจะเลือกให้เหมาะกับการใช้งานแล้ว ต่อไปเราต้องมาดูความเก่าใหม่ของยางรถยนต์ที่เราจะซื้อเพื่อที่จะได้ยางใหม่ๆมาใช้ ไม่ใช่ว่าเก็บไว้นานแล้วเอามาขาย ดูตามรูปนะครับ



ตัวเลขในรูปจะบ่งบอกว่ายางเส้นนี้ผลิตเมื่อไหร่ ในรูปคือ 2410 ความหมายคือ สัปดาห์ที่ 24 ปี2010 นั่นเอง

เพียงเท่านี้อ่านผู้อ่านก็สามารถเลือกยางรถยนต์ได้พอเป็นกันบ้างแล้ว แต่รายละเอียดยังไม่ใช่เท่านี้ เพราะเรื่องของดอกยางก็เป็น ปัจจัยใหญ่ๆเช่นกัน หลายๆคนเข้าใจว่าดอกยางมีไว้ให้เกาะถนน จริงๆแล้วไม่ใช่ เพราะสังเกตุรถแข่งทางเรียบพื้นผิวแห้งยางจะไม่มีดอก เพราะต้องการให้หน้ายางสัมผัสกับผิวถนนมากที่สุด แต่ดอกยางมีไว้เพื่อรีดน้ำเมื่อใช้งานในพื้นผิวที่เปียก นั่นเอง

 ถ้าถามว่ายางรถยนต์ชนิดไหนดีกว่ากัน เทียบรุ่นและยี่ห้อต่างๆ แต่ละยี่ห้อก็จะมีพระเอกของยี่ห้อนั้นๆ เพื่อตอบสนองผู้ใช้งานอยู่แล้ว เราควรพิจารณาโดยเทียบใน class เดียวกัน อย่าเอาตัว top ยี่ห้อหนึ่ง ไปเทียบกับ ยางรองtop ของอีกยี่ห้อหนึ่ง แล้วลองชั่งใจระหว่าง ราคา ส่วนผสมของเนื้อยาง แล้วค่อยตัดสินใจ

 ส่วนการเลือกซื้อยางเปอร์เซ็นต์ หรือยางมือสอง ผมขอแนะนำดูดังนี้ อายุยาง การสึกหรอของยาง คุณภาพของยางว่าแข็งไปไหม และต้องไม่มีรอยฉีกขาด หรือปริ ไม่มีรอยแตกลาย ซึ่งสิ่งพวกนี้ก็พอบอกได้ว่ายางเส้นไหนควรซื้อหรือไม่ควรซื้อ

ขอคุณสำหรับการติดตามครับ

12/03/2555

น้ำมันเบรค

ขณะรถยนต์เคลื่อนที่ เราต้องการจะหยุดการเคลื่อนที่ของรถยนต์ เราจะต้องเหยียบเบรคเพื่อให้รถชะลอ หรือหยุด แล้วรถมันหยุดได้อย่างไร การทำงานของเบรคเริ่มจาก เหยียบแป้นเบรค แป้นเบรคจะเป็นแท่งซึ่งด้านหลังจะมีก้านอยู่ เวลาเหยียบก้านนี้นั้นจะไปดันให้น้ำมันเบรคที่อยู่ในปั้มเบรคบน(ไม่รวมหม้อลมเบรคนะ) ดันไปยังปั้มเบรคล่าง ซึ่งปั้มเบรคล่างนี้จะมีลูกสูบเบรคอยู่ พอน้ำมันเบรคเข้าไปดันทำให้ลูกสูบเบรคไปกดผ้าเบรคให้ติดกับผ้าเบรคตามระยะของแรงกด พอจานเบรคเริ่มเกิดการเสียดสีกับผ้าเบรคล้อก็จะหมุนช้าลง นี่คือขั้นตอนการทำงานระบบเบรคแบบง่ายๆ ตามรูป
ส่วนระบบเบรคโดยละเอียดก็แล้วแต่รถยนต์ยี่ห้อ และรุ่นนั้นๆว่าจะสร้างให้มีระบบอะไรบ้างแตกต่างกัน แต่หลักการหลักๆก็เป็นอย่างข้างต้น 
น้ำมันเบรคก็เป็นของเหลวชนิดหนึ่งซึ่งเอาไว้ส่งถ่ายแรงจากเท้าเราไปยังลูกสูบปั้มเบรคล่าง(คาลิเปอร์) ซึ่งเวลาเราเบรคนั้นเมื่อผ้าเบรคมีส่วนผสมของโลหะกับจานเบรคที่เป็นโลหะเสียดสีกัน ก็จะทำให้เกิดความร้อนสะสม ดังนั้นการเลือกน้ำมันเบรค ควรใช้ให้มีมาตราฐาน เพราะถ้าน้ำมันเบรคเกิดเดือดขึ้นมา ก็เหมือนของเหลวทั่วไปเมื่อเกิดการเดือด นั่นคือจะกลายเป็นไอ พออยู่ในสถานะของไอแล้ว คุณสมบัติของเหลวไฮดรอลิค ก็จะหายไป ทำให้ไม่สามารถส่งถ่ายแรงได้ พอส่งถ่ายไปไม่ได้ลูกสูบเบรคล่างก็จะไม่ถูกกดด้วยแรงที่ควรจะเป็น ทำให้ประสิทธิภาพหายไป 

การเลือกน้ำมันเบรคที่เหมาะสม 
สมาคมวิศวกรรมยานยนต์ของอเมริกา(SAE) และกรมการขนส่งของอเมริกา(DOT) และสมาคมกำหนดมาตราฐานระหว่างชาติ(ISO)  ต่างก็กำหนดมาตราฐานของน้ำมันเบรคไว้ มาตราฐานล่าสุดตอนนี้คือ SAE 1703 Jan'80 ส่วน DOT นั้นคือมาตราฐาน  U.S.Federal Motor Vehicle Safety Standard (FMVSS) No.116 Dot3 Dot4 Dot5  ISO คือ 4925-1978
คุณสมบัติน้ำมันเบรคที่มีผลต่อการเบรคคือ จุดเดือด เมื่อแห้งหรือชื้นผลต่อยางแม่ปั้มและลูกสูบปั้มล่าง และต่อชิ้นส่วนต่างๆของระบบเบรค
เราจะเลือกน้ำมันเบรครถยนต์จากมาตราฐาน DOT กัน ที่นิยมมี DOT3 DOT4 DOT5 
DOT5 นี้นั้นจุดเดือดสูงมากที่สุด แต่เนื่องด้วยตัว base เป็นซิลิโคน ทำให้ไม่เกิดการรวมตัวกับน้ำ รถยนต์ที่ใช้วิ่งตามท้องถนน ก็ต้องเจอหลากหลายสภาวะ แน่นอนว่าความชื้นต้องเข้าไปบ้างอยู่แล้ว แล้วถ้าน้ำมันเบรคเราไม่รวมตัวกับน้ำบ้างเลย ก็เกิดมีน้ำในระบบและน้ำจุดเดือดต่ำกว่าน้ำมันเบรคมากพอเกิดความร้อนก็กลายเป็นไอ ทำให้เกิดแรงดันในระบบ แรงดันนี้อาจจะไปดันให้น้ำมันเบรคไปค้างกับลูกสูบปั้มล่าง(คาลิเปอร์) ก็เป็นได้ หรืออาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเบรคอย่างอื่น เช่น สายน้ำมันเบรคแตกก็เป็นได้
DOT3 และ DOT4 ขออธิบายทีเดียว 2 ตัวนี้ใช้ในชีวิตประจำวันปกติได้ทั้งสิ้น เพราะทั้ง2เกรดนี้มีการรวมตัวกับน้ำได้บ้าง สิ่งที่แตกต่างกันคือ จุดเดือด เมื่อมีการรวมตัวกับน้ำ ดังรูป 

ถ้าเป็นผมเลือกเองผมก็คงเลือก DOT 4 เพราะจุดเดือดค่อนข้างสูง เมื่อเกิดความชื้นในระบบ เราเองไม่สามารถรู้ได้ว่าความชื้นในระบบเรามีกี่เปอร์เซ็นต์ ป้องกันไว้แต่เนิ่นๆก็ดีใช่ไหมครับ ส่วน DOT3 ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่เราก็ควรมั่นตรวจสอบอายุการใช้งานสักหน่อยครับ

หวังว่าบทความนี้คงมีประโยชน์ไม่มากก็น้อย ในการที่จะเลือกซื้อน้ำมันเบรคนะครับ ส่วนยี่ห้อแล้วแต่ชอบครับอ่านข้างขวดก่อนว่า มาตราฐานอะไร(ปกติ DOT) แล้วเลือกตามการใช้งานของท่านเลยครับ ส่วนถ้าไปซื้อเองที่ร้านอ่ะไหล่ยนต์ ก็บอกว่า "ซื้อน้ำเบรค ยี่ห้อ... DOT... " ได้เลยครับ นี่คือตัวอย่างครับด้านล่างเขียน DOT4  ขนาด 1 ลิตร
***สำคัญมาก น้ำมันเบรคมีคุณสมบัติกัดกร่อนสีรถยนต์นะครับ ถ้าเติมเองระวังหก โดนสีรถยนต์นะครับ ทางที่ดีเวลาเติมเอง ให้เตรียมน้ำเปล่าไว้ใกล้ๆด้วยครับ ถ้าพลาดเทหกแล้ว เอาน้ำเปล่าที่เตรียมไว้เทตามไปที่จุดที่หกเลยครับ***
                        

11/29/2555

รายละเอียดน้ำมันเครื่อง

น้ำมันเครื่องรถยนต์คืออะไร มันคือของเหลวชนิดนึงซึ่ง หน้าที่หลักๆแล้วเอาไว้หล่อลื่นชิ้นส่วนของเครื่องยนต์นั่นเอง

ส่วนประกอบหลักของน้ำมันเครื่องรถยนต์มี 2 ส่วนครับ
1.base oil ตัวนี้จะเป็นตัวทำหน้าที่ในการหล่อลื่น ความหนืด ความใส ตัวนี้จะเป็นตัวทำงานหลักๆครับ
2.additive ตัวนี้จะเป็นสารปรุงแต่งให้คุณสมบัติของน้ำมันเครื่องดีขึ้นครับ เช่น สารช่วยลดอุณหภูมิ สารช่วยในการชะล้าง เป็นต้น

น้ำมันเครื่องยนต์มีหลักๆ 2 เกรดคือ
1.เกรดเดี่ยว(น้ำมันชนิดธรรมดา) คือ ตัวน้ำมันจะเปลี่ยนแปลงตามอุณหภูมิได้น้อย เช่น SAE 40  ข้อดีของน้ำมันเครื่องยนต์ตัวนี้คือราคาจะถูกกว่า น้ำมันเครื่องชนิดนี้เหมาะกับ เครื่องยนต์ที่ใช้อุณหภูมิค่อนข้างคงที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิมากนัก
2.เกรดรวม(น้ำมันเครื่องสังเคราะห์) เช่น SAE 15W - 40 แบบนี้จะเรียกว่าเกรดรวม ความหนืดตัวน้ำมันจะเปลี่ยนแปลงตามอุณหภูมิ ได้มากกว่า ไม่ว่าภาวะจะเย็นหรือร้อน ความหนืดของน้ำมันจะเปลี่ยนแปลงเพื่อปกป้องเครื่องยนต์ได้มากกว่าในเวลาเครื่องยนต์เย็นครับ
***บางทีเราอาจจะได้เห็นน้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ ก็คือการเอาน้ำมันชนิดธรรมดาผสมกับสังเคราะห์นั่นเอง***

หน้าที่ของน้ำมันเครื่อง
1.การหล่อลื่น ในข้อนี้ผมจะรวมการปกป้องชิ้นส่วนของเครื่องยนต์เวลา start ด้วยนะครับ เครื่องยนต์ทำจากโลหะ ดังนั้นชิ้นส่วนที่เสียดสีกัน จะทำให้เกิดการสึกหรอ น้ำมันเครื่องทำหน้าที่เป็นฟิมล์บางๆเคลือบผิวโลหะที่ต้องเสียดสีกัน ทำให้การสึกหรอน้อยลง และในชิ้นส่วนที่มีการหมุน หรือส่งกำลังขับเคลื่อนนั้นจะช่วยลดแรงเสียดทานอีกด้วย
2.การป้องกันสนิมและการกัดกร่อนทางเคมี
การเผาไหม้ในเครื่องยนต์จะทำให้เกิดความชื้นและไอน้ำ เป็นสาเหตุให้เกิดสนิมกับชิ้นส่วนต่างๆ ขณะเดียวกันการเผาไหม้เชื้อเพลิงก็ทำให้เกิดกรดกำมะถัน ซึ่งสามารถกัดกร่อนชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ให้สึกหรอได้ น้ำมันเครื่องมีหน้าที่ทำให้ไอน้ำและกรดกำมะถันเจือจางลงซึ่งช่วยป้องกันสนิมและการกัดกร่อนได้ โดยทั่วไปแล้วตัวน้ำมันจะป้องกันสนิมอยู่แล้วแต่น้ำมันเครื่องบางชนิดก็จะใส่ ตัวadditive เพิ่มเข้าไปเพื่อช่วยปกป้องได้มากขึ้นครับ
3.การระบายความร้อน เครื่องยนต์เวลาทำงานนั้นจะเกิดการเผาไหม้ ในห้องเผาไหม้ ทำให้เกิดความร้อนต่อชิ้นส่วนเครื่องยนต์ บางชิ้นส่วนไม่ได้เผาไหม้โดยตรงแต่ก็ได้รับผลกระทบด้วย ดังนั้นเครื่องยนต์จะมีปน้ำมันเครื่องช่วยฉีดในการระบายความร้อน และไหลกลับลงอ่างน้ำมันเครื่องด้านล่าง วนไปเรื่อยๆเมื่อเครื่องยนต์ทำงาน สำหรับเครื่องยนต์ที่ความร้อนสูงๆ น้ำมันเครื่องบางชนิดจะใส่ additive ช่วยลดอุณหภูมิเพิ่มไปอีกครับ
4.ชะล้างเศษโลหะ เมื่อมีการเสียดสีแน่นอนต้องมีการสึกหรอบ้างครับ จะมีเศษผงโลหะออกมาบ้าง น้ำมันเครื่องที่ฉีดออกไปจะไปชะล้างเครื่องยนต์ไปในตัว แล้วเศษโลหะไปไหนไม่วนขึ้นไปอีกหรือ โดยส่วนมากแล้วจะมีแทบแม่เหล็กที่ก้อ่างน้ำมันเครื่องครับ เพื่อดูดเศษโลหะไว้ครับ
5.ป้องกันการรั่วของกำลังอัด ชิ้นส่วนที่ทำให้เกิดกำลังอัดคือ ลูกสูบกับเสื้อสูบและฝาสูบครับ แต่ฝาสูบไม่พูดถึงนะครับเพราะเมื่อเครื่องยนต์ประกอบกันแล้วก็ให้คิดเป็นชิ้นเดียวไปเลย
น้ำมันเครื่องที่มีลักษณะเป็นฟิล์มจะช่วยเคลือบผนังกระบอกสูบ เพื่อทำหน้าที่ป้องกันการรั่วของกำลังอัดภายในกระบอกสูบ ที่จะไหลผ่านระหว่างแหวนลูกสูบและกระบอกสูบลงสู่อ่างน้ำมันเครื่องของเครื่องยนต์

ระยะการถ่ายน้ำมันเครื่อง

เราจะถ่ายน้ำมันเครื่องยนต์เมื่อไหร่ดี ข้อนี้เป็นที่สงสัยกันมาก แม้แต่เจ้าของผลิตภัณท์เองก็ไม่สามารถให้ตัวเลขที่ชัดเจนได้ จึงต้องให้เป็นช่วงๆระยะกิโลเมตรครับ 
ตัวอย่างปัจจัยการถ่ายน้ำมันเครื่องยนต์นั้นมีมากมายผมขอยกตัวอย่างคร่าวๆนะครับ
1.ใช้เครื่องยนต์ในสภาวะฝุ่นเยอะ อันนี้ก็ต้องเปลี่ยนไวกว่าสภาวะที่มีฝุ่นน้อย
2.ใช้เครื่องยนต์ในสภาวะความชื้นมาก ก็ต้องเปลี่ยนไวกว่าสภาวะที่แห้ง
3.เครื่องยนต์ที่ชิ้นส่วนภายในหลวม โดยเฉพาะแหวนลูกสูบหลวม ก็จะเกิดการรั่วของห้องเผาไหม้ลงมาที่อ่างน้ำมันทำให้ เกิดการเสื่อมคุณภาพได้ง่ายกว่า

น้ำมันเครื่องชนิดธรรมดา ส่วนมากอายุถ่ายน้ำมัน ประมาณ5000 กิโลเมตร ในสภาวะปกติ ถ้าเราใช้ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการเสื่อมก็ให้เปลี่ยนไวกว่า 5000 หรือถ้าเราใช้เครื่องยนต์ค่อนข้างอยู่ในสภาวะที่ปกติก็เกิน5000กิโลเมตร ได้เล็กน้อย 


น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ ก็เปลี่ยนถ่ายประมาณ 5000-7000 กิโลเมตร อยู่ที่อัตราส่วนในการผสมน้ำมันธรรมดากับน้ำมันสังเคราะห์


น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ น้ำมันเครื่องตัวนี้โดยปกติจะอยู่ประมาณ 10000 กิโลเมตร แต่ก็เกินได้นิดหน่อย อยู่ที่สภาวะการใช้งาน แต่ราคาจะแพงกว่า 2 ชนิดแรก





11/28/2555

วิธีเลือกน้ำมันเครื่องยนต์

บทความนี้จะบอกเกี่ยวกับการเลือกใช้ น้ำมันเครื่องให้เหมาะสมกับเครื่องยนต์(รถยนต์)ชนิดต่างๆนะครับ ส่วนรายละเอียดของการทำงาน หน้าที่การปกป้องต่างๆให้อ่านในบทความรายละเอียดน้ำมันเครื่องยนต์นะครับ

ผมจะอธิบายแบบภาษชาวบ้านนะครับ มีวิชาการนิดหน่อยพอนะครับ
ก่อนเราจะเลือก เราต้องเลือกจากฉลากที่แปะไว้ที่ขวดน้ำมันเครื่องนะครับ เขียนอะไรบ้างมาดูกันครับ

เราเห็นชุดตัวอักษรและตัวเลขอะไรบ้างครับ ตามหลักสากลต้องมีเลขชุดนี้ครับ
SAE 20W-50
API SG
ชุดข้อความนี้บนฉลากน้ำมันเครื่องยนต์ต้องมีครับ ส่วนจะสีสันยังไง ก็แล้วแต่ยี่ห้อครับ
สิ่งที่เราจะได้จากฉลากชุดนี้คือ
1.SAE(Society of automotive engineers) คือสถาบันที่รับรองมาตราฐาน ของน้ำมันเครื่องยนต์
2."20W" "W ย่อมาจาก winter" คือบ่งบองค่าความต้านทานการเป็นไข ส่วนใหญ่เหมาะกับประเทศเมืองหนาว ในไทยตัวเลขนี้แทบจะมองข้ามไปเลยครับ(ยกเว้นไปอยู่ที่จุดต่ำกว่า 0 องศาลงไป 20Wต้านทานการเป็นไขได้ถึง 0 องศา ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่านี้ ก็15W ไล่ลงไปเรื่อยๆ 0W ต้านทานได้-30องศาครับ)
3."50" ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขบอกความหนืดของน้ำมันเครื่องยนต์ครับ ตัวนี้สำคัญมาก ยิ่งตัวเลขมากความหนืดก็จะมากตามครับ การเลือกใช้ความหนืด ดูอุณหภูมิของเครื่องยนต์ และอายุเครื่องยนต์เป็นหลักครับ แต่อย่างไรก็ดีถ้าไม่รู้ และไม่ใช่รถแข่งที่ใช้เครื่องยนต์รอบสูงๆ เอาไม่เกิน 40 ครับ
4.API(American petroleum institute) SG ชุดนี้ผมอธิบายเป็นชุดไปเลยนะครับ คือรับรองมาตราฐานน้ำมันคเรื่องให้เหมาะกับเครื่องยนต์ที่ผลิตในช่วงปีนั้นๆ SG ก็เป็นช่วงเวลานึงที่มาตราฐานนี้ระบุไว้ว่าเหมาะสมครับ เพราะเทคโนโลยี ของเครื่องยนต์เปลี่ยนไป ชิ้นส่วนต่างๆก็ย่อมออกแบบมาต่างกันเพื่อรับกับสารเคมีที่อยู่ในน้ำมันเครื่องครับ ตารางการเทียบก็ตามรูปครับ
เพียงเท่านี้ก็สามารถเลือกน้ำมันเครื่องให้เหมาะกับเครื่องยนต์ของรถยนต์ท่านเองได้แล้วครับ(แบบพื้นฐานนะครับ)

11/27/2555

วิธีเปลี่ยนล้อ


วิธีเปลี่ยนล้อรถยนต์นั้นไม่ยากครับ แต่จะเหนื่อยมากเหนื่อยน้อยขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่มี ถ้าคุณมีอุปกรณ์พวกแม่แรงไฮดรอลิคอยู่แล้วก็เหนื่อยน้อยหน่อยครับ แต่ในบทความนี้ผมจะอธิบายการเปลี่ยนล้อรถยนต์แบบใช้แม่แรงที่ติดรถมาให้ครับหน้าตาแบบนี้ครับ


ในรถยนต์ทุกคันแม่แรงประเภทนี้จะมีติดรถแถมมาอยู่แล้วครับ ไม่ว่าจะรถเก๋ง หรือรถกะบะ ดังนั้นเมื่อคุณเป็นผู้ใช้รถยนต์ควรจะมีความรู้ด้านการใช้แม่แรงประเภทนี้ไว้บ้างครับ ในยามที่เราเดินทางไปไหนมาไหน หากเกิดเรื่องที่ไม่ขาดคิดขึ้นเช่น ยางแตก ยางระเบิด ยางรั่ว หรืออะไรก็ตามแต่ที่เป็นเหตุให้เราต้องเปลี่ยนยางรถยนต์นั้น เราจะได้เอาตัวรอดได้ครับ แต่สำหรับคุณผู้หญิงงานนี้อาจะเหนื่อยสักหน่อยกับแม่แรงประเภทนี้นะครับ เริ่มกันเลยนะครับ
วิธีการเปลี่ยนล้อรถยนต์ด้วยตนเอง
***ก่อนจะทำการเป็นล้อหาพื้นที่ๆปลอดภัย ที่ไม่ต่างระดับ ไม่เป็นเนิน ไม่แคบจนเกินไปนะครับเพื่อการทำงานที่สะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น***
1.หาที่อยู่ของยางอ่ะไหล่ และแม่แรง โดยปกติแล้วยางอ่ะไหล่กับแม่แรงจะอยู่ด้วยกันนะครับอันนี้ผมหมายถึงพวกรถเก๋งนะครับ ส่วนรถกะบะ ยางอ่ะไหล่จะอยู่ด้านใต้กะบะต้องก้มดูครับ ดังรูปนะครับ

ยางอ่ะไหลารถเก๋ง
ยางอ่ะไหล่รถกะบะ
แม่แรงติดรถของรถเก๋งโดยมากจะอยู่กับยางอ่ะไหล่ครับ อยู่ตามขอบๆตัวถังครับ แต่ของรถกะบะนั้นจะอยู่ภายในห้องโดยสารนะครับ โดยจะอยู่บริเวณเบาะหลังนะครับ
2.การถอดยางอ่ะไหล่ พอเราเจอตำแหน่งที่เก็บยางอ่ะไหล่แล้วต่อไปก็ถอดครับ สำหรับรถเก๋งนั้นง่ายๆเลยครับถอดตัวล็อคยางอ่ะไหล่ครับ โดยการหมุนตัวล็อค(ในรูปด้านบนตัวสีเหลืองที่อยู่ด้านบนล้อ)ทวนเข็มนาฬิกาครับ หมุนจนหลุดครับแล้วยกเอายางออกมา ส่วนของรถกะบะนั้น ให้เอาชุดอุปกรณ์ที่อยู่กับแม่แรงออกมาครับ เราจะเห็นแท่งยาวๆ 3แท่ง อยู่ในซอง คราวนี้เราเลือกเอามาต่อกัน โดยให้ด้านที่เป็นตัว T เป็นด้านที่ใส่ไปยังจุดที่ล็อคยางอ่ะไหล่ครับ(จะมีรูให้ใส่ด้านใต้ท้องรถด้านหลังครับ) แล้วเราเอาเหล็กทั้ง3แท่งต่อกัน สังเกตุตอนท้ายของกะบะจะมีช่องอีกเช่นกัน ให้เราเอาเหล็กที่ต่อกันออกมาด้านช่องท้ายกะบะนี้ครับ ทีนี้เราก็หมุนครับ(อุปกรณ์ในการใช้หมุนแต่ละยี่ห้อแตกต่างกันครับ แต่สุดท้ายแล้วจะต้องหมุนได้ครับลองสังเกตุในซองที่เค้าให้มาครับ อาจจะให้ใช้อุกรณ์ประแจถอดล้อหมุนก็ได้ครับถ้าเค้าที่รูเสียบให้) หมุนจนยางตกลงมาครับ แล้วเราก็เอายางออกมาได้แล้วครับ
3.คายน็อตล้อที่เราต้องการจะเปลี่ยนครับ สมุมติว่าเราต้องการเปลี่ยน ล้อหลังขวานะครับ ก็ให้คายล็อตล้อนั้น แต่ไม่ต้องถอดออกมานะครับ คายเฉยๆ แต่ก่อนจะคายให้ใส่เบรคมือด้วยนะครับ กันรถไหลนะครับ เวลาคาย ทวนเข็มนาฬิกานะครับ ขณะหันหน้าเข้าล้อ
4..การขึ้นแม่แรง ตรงนี้ถือว่าเป็นจุดที่สำคัญที่สุดครับ เพราะถ้าขึ้นไม่ถูกจุด อันตรายครับทั้งคนทั้งรถยนต์ครับ โดยปกติในคู่มือจะบอกจุดที่เอาไว้ใช้ขึ้นแม่แรงอยู่แล้ว แต่สำหรับคนที่ไม่มีคู่มือหรือขี้เกียจเปิดอ่าน ก็ตามรูปนะครับ


สำหรับแม่แรงแบบติดรถมานั้นให้ขึ้นในจุดที่ 3 เท่านั้นนะครับ และถ้าเราต้องการยกล้อหน้า ให้ใส่เบรคมือเพื่อกันล้อไถลขณะยกรถ และถ้าเปลี่ยนล้อหลัง สำหรับเกียร์ออโต้เข้าเกียร์ park(P) ครับ เกียร์ธรรมดาเข้าเกียร์ เดินหน้าค้างไว้ครับ ไม่ต้องติดเครื่องนะครับ   แล้วเวลาขึ้นแม่แรงอย่าเอาชิ้นส่วนใดๆของร่างกายเข้าไปอยู่ใต้ตัวรถเด็ดขาด  เจอจุดขึ้นแล้วก็หมุนครับ หมุนให้แม่แรงสูงขึ้นโดยใช้ อุปกรณ์ที่ติดมากับรถของท่านที่อยู่ในซองเครื่องมือครับ หมุนจนล้อสููงจากพื้นนิหน่อยครับ ไม่ต้องสนใจว่าตัวรถสูงแค่ไหนนะครับ สนใจที่ล้อ สูงจนพอที่เราจะหมุนล้อได้ครับโดยที่ไม่สูงจากพื้นเกินไป และไม่ติดพื้นครับ 
5.ถอดเอาล้อที่ยางแตกออก ถ้ามีการรอง สเปเซอร์ไว้ ตรวจดูนะครับว่าติดออกมาด้วย ถ้าติดมาถอดแล้วใส่กลับไปในดุมล้อก่อนนะครับ
6.ใส่ล้ออ่ะไหล่ที่เตรียมไว้ การใส่ให่ง่ายๆนั้น ให้เราหมุนดุมล้อครับจนได้แนวที่เราต้องการ แล้วล็อกครับการล็อกคือ ถ้าเปลี่ยนล้อหลัง ก่อนใส่ก็ไปดึงเบรคมือครับ ถ้าล้อหน้าก่อนใส่ก็ใส่เกียร์ P หรือเข้าเกียร์ (เกียร์ธรรมดา ห้ามติดเครื่องนะครับ) ค้างไว้ครับ ล้ออ่ะไหล่ควรตรวจเช็คลมด้วยนะครับ ให้อยู่ในเกณท์ที่เหมาะสมนะครับ ถ้าลมน้อย ไปเติมก่อนก็จะดีครับ แต่ถ้าไม่ไหวจริงๆก็เปลี่ยนไปก่อนแล้วค่อยๆ ขับไปหาปั้มเติมลมอย่างช้าๆครับ
7.การใส่ล้ออ่ะไหล่ ก็ยกใส่ธรรมดาครับ ใส่เสร็จแล้วให้เอาน็อต 1 ตัวหมุนไปยังล้อกันหลุดไว้ก่อนนะครับ แล้วก็ทยอยใส่น็อตที่เหลือ  ไม่ต้องขันแน่นนะครับจุดนี้ให้หมุนด้วยมือไปก่อนจนตึง ต่อไปใช้ประแจที่ใช้ถอดล้อมาขันล้อเข้า โดยการขันต้องขันแบบ กากบาท นะครับ  สมมุติรถคุณมี 4 รู คุณจะเรียงยังไงก็ได้  1 2 3 4 แต่คุณต้องขัน 1 ไป 3 หรือ 2 ไป 4 ก่อน แล้วก็ที่เหลือก็กากบาทอีกที อย่าขัน เรียง 1234 นะครับ สรุป ขัน 1324 หรือ 2413 หรือ 4231 ยังไงก็ได้ให้เป็น กากบาท ท่าเวลาขัน ให้ยืนมาทางด้านข้างล้อ เราต้องขันตามเข็มนาฬิกาเมื่อหันหน้าเข้าล้อ กึ่งนั่งกึ่งยืน(ย่อเข่า) แล้วขันเมื่อตึง กระตุกเพื่อให้แน่นอีกที ไม่จำเป็นต้องไปยืนขย่มนะครับ เดี๋ยวเกลียวน็อตหวาน ก่อนเอาลงลองหมุนล้อดูอีกทีก็ได้ครับว่ามีอะไรผิดปกติไหม เช่าส่ายๆ หรือดึงๆล้อดูแล้วเหมือนเข้าไม่สุด เป็นต้น
8.เวลาใช้ยางอ่ะไหล่ คิดตลอดนะครับ ว่ามันคือยางอ่ะไหล่ อย่าใช้ความเร็วเต็มที่เหมือนใช้กับยางปกติ  ขับอย่างระมัดระวังนะครับ 

การเปลี่ยนยางอ่ะไหล่ด้วยตัวท่านเองก็มีเท่านี้ เดี๋ยวถ้าขาดตรงไหน จะมาเพิ่มให้ครับเพราะตอนเขียนนี้รวดเดียวไม่ได้ อ่านซ้ำนะครับ 







11/22/2555

วิธีดูแลรถยนต์

รถยนต์เป็นยานพาหนะชนิดหนึ่งที่ปัจจุบันมีความสำคัญในการดำเนินชีวิต เพื่อให้ได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็วในการเดินทาง บทความนี้จึงมีเจตนาที่จะนำเสนอเกี่ยวกับการดูแลรถยนต์ของท่านผู้อ่านด้วยตัวท่านเอง สำหรับบางท่านที่ไม่มีเวลาดูแลก็ถือว่าเป็นความรู้แล้วกันนะครับ ติดตัวไว้เผื่อเวลาท่านได้เข้าอู่รถรถยนต์ หรือศูนย์บริการก็ดี เราได้เข้าใจว่าเราควรจะจ่ายค่าบำรุงรักษาให้เหมาะสมอย่างไร และเผื่อบางท่านรถยนต์ของท่านได้เกิดเสีย หรืออุบัติเหตุ ในนอกเขตพื้นที่ๆอู่หรือศูนย์ที่ท่านได้ใช้บริการเป็นประจำ เวลาเข้าไปคุยกับช่างเราจะรู้ได้ว่าช่างคนนั้นๆ จะหลอกเราหรือไม่ประการใด เพราะรถยนต์ถือเป็นทรัพย์มีค่า หรือบางทีถือได้เป็นเครื่องมือทำมาหากินเลยทีเดียว บางอย่างท่านได้รู้ปัญหาก่อนที่จะบานปลาย และได้เข้าซ่อมได้ทันท้วงที ทำให้ไม่ต้องเสียเงินก้อนโตครับ แต่เหนือสิ่งอื่นใดบทความนี้จะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าผู้อ่านไม่ได้สนใจจะดูแลรถยนต์ของท่านอยู่แล้วครับ



บทความนี้คงไม่ได้บอกถึงว่ารถยนต์ค่ายไหน ยี่ห้อไหนน่าใช้ หรือไม่น่าใช้นะครับ สำหรับตัวผมเองรถยนต์ทุกๆค่ายมีข้อดี ข้อเสีย แตกต่างกันครับ ถ้าข้อดีของค่ายนั้นๆเราเอามาใช้ประโยชน์ได้มาก และข้อเสียของเค้าเราไม่ได้เสียหายอะไรมากนัก ก็ถือว่าเป็นรถที่เหมาะสมครับ

สำหรับการดูแลรถยนต์เบื้องต้นของบทความนี้นั้น บางเรื่องอาจจะลึกไปบ้าง ผิดพลาดไปบ้าง ผมต้องขออภัยในความรู้อันน้อยนิดของผมด้วยนะครับ




สิ่งที่ควรตรวจดูตลอดเมื่อคุณมีรถยนต์
1.ระดับของเหลวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหม้อน้ำ น้ำแบตเตอรี่(แบตแห้งไม่เกี่ยวนะครับ) น้ำมันเบรค น้ำมันเพาเวอร์ ระดับน้ำมันเครื่อง น้ำฉีดกระจก(อันนี้แถมไปด้วยครับไหนๆก็ตรวจแล้ว) น้ำมันเกียร์(ถ้าตรวจสอบเป็นนะครับ)
2.ลมยาง ลมยางในรถยนต์ถ้าเป็นรถยนต์เดิมๆ ไม่ได้มีการเปลี่ยนวงล้อ เปลี่ยนขนาดยางอะไร ส่วนมากแล้วระดับความดันในยางรถยนต์ จะแปะบอกไว้ที่ ขอบประตูด้านตัวถังฝั่งคนขับครับ ถ้าไม่มีในบุ๊คเซอร์วิส ก็น่าจะมีครับ รถเก๋งทั่วๆไป นี้ส่วนมากอยู่ที่ระดับ 30-32 psi ครับ กระบะก็ประมาณ 35-40 psi ขึ้นอยู่กับ load ครับ
3.ระบบส่องสว่าง เวลาเราใช้รถยนต์ตอนกลางคืน ไฟส่องสว่างสำคัญมากครับ อย่างไรควรดูแลให้ติดครบทุกดวงนะครับ ไม่ว่าจะ ไฟเลี้ยว ไฟหรี่ ไฟต่ำ ไฟสูง ไฟเบรค ไฟถอยหลัง หลอดไหนขาดก็ซื้อเปลี่ยนครับ ส่วนวิธีเปลี่ยนขึ้นอยู่กับตัวโคม และหลอดครับ รายละเอียดส่วนนี้ ในคู่มือน่าจะมีบอกไว้ครับ
4.ระบบเบรค พวกผ้าเบรค หม้อลมเบรค เบรคมือด้วยก็ดีครับ ในข้อนี้การจะตรวจสอบเบื้องต้นคือไม่มีอะไรมากครับ เมื่อเราใช้เบรคแล้วมีอาการผิดปกติ เช่น มีเสียงเหมือนเหล็กกรีดกัน อันนี้อาจจะมาจากผ้าเบรค ไม่ว่าจะหมด หรือโดนน้ำ หรือขาผ้าเบรคงอผิดปกติ หรือผ้าเบรคใหม่ มีเสียงได้ทั้งนั้นสำหรับท่านที่ไม่สามารถแกะดูได้เอง ก็ให้อู่ใกล้ๆบ้านตรวจดูให้ได้ครับ แต่สำหรับท่าที่สามารถตรวจดูได้เอง ก็ลองขับๆไปแล้วดูอาการไปครับ ถ้าเปียกน้ำหรือชื้น สักพักก็จะหายไปครับ ส่วนอาการที่เราเหยียบเบรคแล้ว แป้นเบรคจมลงไปเลย อันไปตรวจสอบสายน้ำมันเบรค คาลิเปอร์ครับ มีการรั่วมีตามดเกิดขึ้นไหม ถ้าแข็งเหยียบไม่ลง อันนี้ไปดูหม้อลมครับ เวลาเช็คหม้อลมง่ายๆก็คือ ดับเครื่องยนต์นะครับ ย้ำเบรคจนมันแข็งนะครับ เสร็จแล้วเหยียบข้างไว้ แล้วสตาทร์ครับ ถ้าหม้อลมยังทำงานอยู่ แป้นเบรคต้องยุบครับ
5.ยางปัดน้ำฝน อันนี้ไม่อะไรมากครับ ก็เวลาเราปัดแล้วมันไม่เรียบ เราก็เปลี่ยนก็แค่นั้น แต่เดี๋ยวก่อน ก่อนจะเปลี่ยนเราทำความสะอาดมันซะหน่อยจะดีกว่า เอาผ้าเช็ด หรือลูบส่วนที่เป็นยางก่อนนะครับ จะเห็นว่ามีคราบดำๆ เช็ดจนคราบมีน้อยๆ หรือไม่มีเลย แล้วลองใช้ดู โดยมากดีขึ้นเยอะครับ จะได้ไม่ต้องเสียเงินครับ
6.ช่วงล่าง พวกโช้ค สปริง เมื่อเราขับรถยนต์ไปแล้ว เจอพื้นที่ต่างระดับ แล้วมีอาการยวบยาบรู้สึกไม่มั่นคง ให้ลองกดรถยนต์ดูนะครับ กดตามจุดต่างๆเลยครับเป็นการทดสอบโช้คอัพครับ เรากดสัก 5-10ที(หาจุดที่บอดี้แข็งแรงหน่อยนะครับเดี๋ยวบุบ) แรงๆนะครับ แล้วปล่อยถ้ารถยังเด้งอยู่ไม่หยุด นั่นก็คือโช้คอาจะรั่วแล้วครับ หรืออีกอย่างคือดูที่แกนโช้คว่ามีคราบอะไรไปติดอยู่เยอะไหม เอามือไปจับครับถ้ามีน้ำมันนั่นก็แปลว่ารั่วเช่นกันครับ หรือถ้าเราได้ยินเสียงดัง กุ๊กๆ จ้างห้องเครื่องยนต์ ไม่ว่าจุดไหนก็ดีเหมือนเหล็กกระแทกกัน เป็นไปได้ที่ยางรองหัวโช้คอาจจะขาดไปแล้วนะครับ หรือถ้าเราจอดรถพื้นเอียงทิ้งไว้สักพัก แล้วขับลงมาพบว่ารถยังเอียงอยู่ เป็นไปได้ครับว่าสปริงล้าแล้วครับ
7.แบตเตอรี่ เมื่อเราสตาร์ทเครื่องยนต์แล้วมีอาการแบตอ่อน อาการคือไดสตาร์ทเราจะฟังเสียงเหมือนไม่ค่อยมีแรงครับ หรือจอดไว้แล้วสตาร์ทไม่ค่อยติดคือแบตเก็บไฟไม่ค่อยอยู่แล้วครับ

คร่าวๆเอาเท่านี้ก่อนละกันครับนึกอะไรออกเดี๋ยวมาเขียนเพิ่มเติมให้นะครับ